กาสามปีก ๑

Vitex peduncularis Wall. ex Schauer

ชื่ออื่น ๆ
กาจับหลัก, ตีนนกผู้, มะยางห้าชั้น (เหนือ); กาสามซีก, ตีนกา (กลาง); ตีนนก, สมอตีนเป็ด, สมอหวอง (ตะวัน
ไม้ต้น ผลัดใบ กิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบประกอบแบบนิ้วมือมีสามใบย่อย เรียงตรงข้าม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงดอกสีขาวหรือชมพูอ่อน เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนเมื่อแก่เต็มที่ ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ผลสุกสีแดง เมล็ดแข็ง

กาสามปีกเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง ๓๐ ม. เปลือกสีน้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลเข้มหรือดำ กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนอ่อนประปราย กิ่งแก่เกลี้ยง

 ใบประกอบแบบนิ้วมือมีใบย่อยสามใบ เรียงตรงข้ามก้านใบเรียว ยาว ๓.๕-๗ ซม. ด้านบนเรียบหรือเป็นร่องตื้น มีขอบเป็นสันชัดเจน ผิวเรียบหรือมีขนประปราย ใบย่อยรูปขอบขนานถึงรูปรี หรือรูปคล้ายใบหอก ปลายและโคนเรียวแหลมขอบเรียบ แผ่นใบหนา ใบย่อยขนาดไม่เท่ากัน ใบกลางกว้าง ๑.๕-๕.๕ ซม. ยาว ๔-๑๗ ซม. ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลประปรายใบแก่ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนตามเส้นกลางใบ ปลายเส้นแขนงใบโค้งจรดกัน เห็นไม่ชัด ก้านใบย่อยยาว ๐.๑-๑.๒ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่งเป็นช่อเดี่ยว ๆ หรือเป็นคู่ กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๘-๒๕ ซม. แตกแขนงเป็นคู่ตรงข้ามหรือเกือบตรงข้ามกัน แต่ละแขนงแตกแขนงย่อยเป็นคู่ ๆ อีก ๑-๓ คู่ ปลายสุดของกิ่งเป็นช่อกระจุกก้านช่อดอกยาว ๓-๙.๕ ซม. มีใบประดับติดเป็นคู่ตรงจุดที่แตกกิ่ง ยาว ๑-๓ มม. ร่วงง่าย ดอกสีขาวหรือชมพูอ่อนแล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีขาวนวล มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ มีใบประดับย่อยขนาดเล็ก ๑ คู่ ติดอยู่ใต้กลีบเลี้ยง ยาวประมาณ ๑ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ โคนติดกันเป็นรูปกรวย สูง ๑.๕-๒.๕ ซม. ปลายเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยมเล็ก ๆ ๕ แฉก มีต่อมเป็นเกล็ดสีทอง กลีบดอกโคนติดกันเป็นกรวย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกกลางด้านล่างมักใหญ่กว่าแฉกอื่น ๆ กว้างประมาณ ๕ มม. เกสรเพศผู้ ๔ อัน สั้น ๒ อัน ยาว ๒ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปป้อม มี ๓-๔ ช่อง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๘ มม. ผลสุกสีแดง เมล็ดแข็งมาก มีเนื้อหุ้มเมล็ดบาง ๆ

 กาสามปีกชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในป่าเบญจพรรณหรือป่าดิบเขา บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๔๐๐-๙๐๐ ม. เริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ในต่างประเทศพบทางภาคเหนือของปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และมาเลเซีย

 เนื้อไม้ใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ และใช้ในงานแกะสลักได้ดี ในปากีสถานใช้ใบอ่อนกินเป็นผักและกินผลสุกด้วย ส่วนในอินเดียใช้น้ำต้มจากใบและเปลือกเป็นยาลดไข้ น้ำคั้นจากใบเชื่อกันว่ามีสรรพคุณทางยา (Moldenke and Moldenke, 1983).

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กาสามปีก ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Vitex peduncularis Wall. ex Schauer
ชื่อสกุล
Vitex
คำระบุชนิด
peduncularis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Schauer, Johannes Conrad
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Schauer, Johannes Conrad (1813-1848)
ชื่ออื่น ๆ
กาจับหลัก, ตีนนกผู้, มะยางห้าชั้น (เหนือ); กาสามซีก, ตีนกา (กลาง); ตีนนก, สมอตีนเป็ด, สมอหวอง (ตะวัน
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ยิ่งยง ไพสุขศานติวัฒนา